13056 Views |
Tokina AT-X 100 F2.8 PRO D Macro
เทคนิคการถ่ายภาพมาโครได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับช่างภาพทั่วไปและช่างภาพมืออาชีพ มันมักจะถูกนำไปประยุกต์ใช้กับการถ่ายภาพประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Still life ภาพดอกไม้ ภาพแมลง ภาพแหวนแต่งงานและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในการถ่ายภาพงานแต่ง หรือแม้แต่ภาพบุคคลทั่วไปด้วย การถ่ายภาพแบบนี้ล้วนแต่ต้องขยับเข้าใกล้ตัวแบบมากกว่าปกติเพื่อเพิ่มความดึงดูดให้แก่ภาพถ่ายมากขึ้น เลนส์มาโครถูกออกแบบมาเพื่อการณ์นั้น มันทำให้เข้าใกล้ตัวแบบได้มากกว่าเลนส์ทั่วไปเพื่อเพิ่มกำลังขยายให้มากขึ้น โดยมากมักจะเป็นเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสคงที่ จึงทำให้เลนส์มีขนาดใหญ่และราคาค่อนข้างสูง
ภาพตัวอย่างด้านล่างแสดงถึงความแตกต่างระหว่างการใช้เลนส์ทั่วไปกับเลนส์มาโครที่มี CFD สั้น (CFD คือ ระยะโฟกัสที่ใกล้ที่สุด) จะเห็นว่าเมื่อเลนส์มาโครขยับเข้าใกล้ตัวแบบมากขึ้นจะส่งผลให้ macro ratio เพิ่มขึ้นอีกด้วย
กลุ่มคนที่ใช้เลนส์มาโครส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มช่างภาพมืออาชีพที่ต้องการถ่ายภาพมาโครโดยเฉพาะ หากเป็นช่างภาพมือสมัครเล่นหรือเพียงต้องการลองสัมผัสการถ่ายภาพมาโครด้วยตัวเองแต่ยังไม่พร้อมที่จะซื้อเลนส์มาโคร ควิกมาร์เก็ตติ้งมีทางเลือกที่ไม่ต้องลงทุนสูงนักมาให้ได้ทดลองกัน นั่นคือ Close up Filter และ Extension Tubes ที่จะขยายขีดความสามารถเลนส์เดิมๆ ที่มีอยู่ในกระเป๋าให้สามารถถ่ายภาพมาโครได้อย่างไม่น้อยหน้าเลนส์มาโครแน่นอน
Close-up Filter
ฟิลเตอร์ CU คือ ฟิลเตอร์ที่ผลิตจากชิ้นเลนส์พิเศษที่เพิ่มกำลังขยายได้ มีลักษณะผิวหน้านูน กรอบหนา สามารถสวมเข้ากับหน้าเลนส์ได้โดยตรงหรือซ้อนกับฟิลเตอร์อื่นได้ ประโยชน์ของฟิลเตอร์ชนิดนี้คือ เมื่อสวมไว้ที่หน้าเลนส์จะลด CFD และเพิ่มกำลังขยายให้กับเลนส์เพื่อให้เกิดเอฟเฟคมาโคร เปรียบเสมือนการเอาแว่นขยายมาสวมเข้าที่หน้าเลนส์นั่นเอง นอกจากนี้ ฟิลเตอร์ CU ยังเข้าไปเพิ่ม aperture ratio อีกด้วย (กล่าวคือจะสามารถเก็บแสงได้มากขึ้นนั่นเอง)
ภาพประกอบด้านล่าง ส่วนแรกคือการถ่ายภาพโดยไม่ใช้ฟิลเตอร์ CU วัตถุอยู่ในระยะที่ CFD น้อยที่สุด (ถ้าขยับเข้าใกล้มากกว่านี้จะไม่สามารถโฟกัสได้) ถัดไปคือการถ่ายภาพโดยใช้ฟิลเตอร์ CU สวมเข้าไปที่หน้าเลนส์ซึ่งทำให้โฟกัสได้ใกล้ยิ่งขึ้นและกำลังขยายสูงขึ้นกว่าเดิม
ข้อดีของฟิลเตอร์ CU คือ สามารถใช้กับกล้องประเภทที่ไม่สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ (แต่ต้องมีเกลียวสำหรับใส่ฟิลเตอร์) และสามารถถ่ายภาพแบบออโต้โฟกัสได้ปกติ มีให้เลือกใช้งานหลากหลายเบอร์ซึ่งกำลังขยายแตกต่างกันออกไปดังนี้ Close up +1 หมายถึง 1 diopters, Close up +2 หมายถึง 2 diopters เป็นต้น ค่า diopters ยิ่งมากยิ่งลด CFD ของเลนส์ได้มาก ฟิลเตอร์ CU ที่จำหน่ายโดยทั่วไปมีทั้งแบบแยกเดี่ยวและแบบชุด (+1,+2 และ +4) นอกจากนั้น ยังสามารถใช้ซ้อนกันหลายชั้นได้ด้วย โดยผลลัพธ์เท่ากับผลรวม diopters ของทุกชิ้นที่ซ้อนกัน แต่อย่างไรก็ตามย่อมส่งผลให้คุณภาพลดลงด้วยจะเห็นได้ชัดบริเวณขอบภาพ (ที่ค่า diopters เท่ากัน การซ้อนหลายชั้นกว่าจะลดทอนคุณภาพและเกิด Distortion มากกว่าแบบที่ซ้อนน้อยกว่าหรือแบบเดี่ยวๆ)
Extension Tube
หรือที่เรียกกันในชื่อ “ท่อมาโคร” มีลักษณะเป็นท่อกลวง ไม่มีชิ้นเลนส์ ใช้สำหรับใส่คั่นกลางระหว่างเลนส์กับกล้องเพื่อลดระโฟกัสให้สั้นลงและเพิ่มกำลังขยายให้ตัวแบบดูใหญ่ขึ้นอีกด้วย
ดังที่เห็นในภาพด้านล่างจะเห็นว่าเมื่อใช้ Extension Tubes จะให้สเกลที่ใหญ่ขึ้นเนื่องจากระยะห่างระหว่างเซ็นเซอร์กล้องกับระนาบโฟกัส (Lens focal plane) เพิ่มมากขึ้น CFD ก็ลดลงเช่นกัน
การออกแบบ Extension Tubes ค่อนข้างเรียบง่ายมีลักษณะเป็นท่อกลวง ไม่มีชิ้นเลนส์ใดๆ โดยทั่วไป 1 ชุดจะประกอบไปด้วยท่อที่มีความสั้นยาวไม่เท่ากัน 2-3 ท่อ สามารถใช้งานได้ทีละชิ้นหรือจะใช้ต่อกันเพื่อเพิ่มระยะห่างก็ได้ เลนส์ที่มี Focal length น้อยจำเป็นต้องใช้ท่อสั้นเพราะถ้าใช้ท่อยาวเกินไปจะไม่สามารถโฟกัสได้ และเลนส์จะเข้าใกล้ตัวแบบจนสัมผัสกับตัวแบบในที่สุด ดังนั้น 1 ชุดจึงแบ่งออกเป็นหลายท่อเพื่อควบคุมความสั้นยาวของระยะระหว่างกล้องกับเลนส์นั่นเอง (ยิ่ง Focal length น้อยยิ่งใช้ท่อสั้น)
ปัจจุบัน Extension Tube มีให้เลือกหลากหลายค่ายและราคาไม่แพงนัก มีทั้งแบบที่ไม่มีวงจรอิเล็กทรอนิกซ์ที่จำเป็นต้องหมุนโฟกัสด้วยมือ (แมนนวลโฟกัส) และแบบที่มีวงจรอิเล็กทรอนิกซ์ที่สามารถออโต้โฟกัสได้ บางรุ่นเป็นแบบแมนนวลโฟกัสแต่สามารถให้ข้อมูลกับกล้องได้ (data transfer) สิ่งที่พึงระวังเวลาเลือกซื้อคือ งานผลิต ความพอดีกับตัวกล้องและเลนส์ไม่หลวมหรือไม่แน่นจนเกินไป และสุดท้ายคือการเคลือบผิวด้านในเพื่อป้องกันการสะท้อนแสงและแสงรั่วนั่นเอง
Extension Tubes มีข้อดีที่เหนือกว่าฟิลเตอร์ CU คือ
แต่ Extension Tubes ก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน นั่นคือ แสงผ่านไปถึงเซ็นเซอร์ได้น้อยกว่าปกติ 3-4 สต็อป และที่สำคัญก็มีโอกาสที่ฝุ่นจะเข้าเซ็นเซอร์ได้เช่นกัน
นี่คือภาพเปรียบเทียบความแตกต่างของการใช้งานอุปกรณ์ถ่ายมาโครคนละแบบ
จากภาพตัวอย่างทั้งหมดที่ผ่านมาจะเห็นว่าฟิลเตอร์ CU ช่วยลด CFD ได้ค่อนข้างมาก และให้ผลลัพธ์สูงสุดเมื่อใช้กับเลนส์เทเลโฟโต้ แต่เมื่อใช้กับเลนส์ที่มีมุมค่อนข้างกว้างจะให้ CFD ที่ค่อนข้างแคบเกินไปและไม่ให้กำลังขยายเท่าที่ควร
ส่วนท่อมาโครให้ผลตรงกันข้ามคือให้ผลลัพธ์ที่ดีเมื่อใช้ร่วมกับเลนส์มุมกว้างและเลนส์นอร์มอล กล่าวคือยิ่งทางยาวโฟกัสเพิ่มขึ้นยิ่งมีผลต่อ CFD น้อยลง
อย่างไรก็ตามเลนส์มาโครย่อมเป็นอุปกรณ์ที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพมาโครเพราะมันถูกออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์นี้โดยเฉพาะ แต่ด้วยราคาที่สูงมากจึงเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูงเกินไปสำหรับผู้ที่เริ่มหันมาสนใจการถ่ายภาพมาโคร ดังนั้นท่อมาโครและฟิลเตอร์ CU จึงอาจเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างเหมาะสมสำหรับช่วงทดลองด้วยงบประมาณที่ไม่สูงนัก ซึ่งสามารถเพิ่มขีดความสามารถเลนส์ที่มีอยู่เดิมในกระเป๋าให้สามารถถ่ายภาพมาโครที่มีคุณภาพดีได้ไม่น้อยหน้าเลนส์มาโคร และในที่นี้ฟิลเตอร์ CU อาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดเมื่อเทียบกับงบประมาณ มันสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุดด้วยเลนส์ที่มีช่วงเทเลโฟโต้ และถึงแม้ฟิลเตอร์จะให้ความคมชัดไม่สูงมากบริเวณขอบภาพก็สามารถลดข้อเสียนี้ได้ด้วยฟิลเตอร์ที่ราคาสูงขึ้นอีกนิด ด้วยคุณภาพการเคลือบผิวที่ดีกว่าปัญหาเหล่านี้แทบจะไม่ปรากฏให้เห็นเลย แถมยังสามารถใช้ได้กับเลนส์ทุกตัวที่สามารถใส่ฟิลเตอร์ได้ทั้งยังใช้งานออโต้โฟกัสได้ตามปกติอีกด้วย หากวางแผนที่จะซื้อฟิลเตอร์ CU จะดีมากหากซื้อด้วยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เลนส์ในกระเป๋าจะมี แล้วใช้ตัวแปลงในการแปลงขนาดลงมาให้เหมาะสมกับเลนส์ตัวอื่นๆ ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางที่เล็กกว่า นอกจากนั้นยังควรเลือกฟิลเตอร์จากผู้ผลิตที่ไว้วางใจได้ จะทำให้ได้ฟิลเตอร์ที่มีคุณภาพคุ้มค่าราคาน่าประทับใจอย่างแน่นอน ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพครับ
ภาพประกอบโดย www.ephotozine.com