22674 จำนวนผู้เข้าชม |
*ภาพถ่ายทั้งหมดเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลในการประกวดถ่ายภาพ International Filter Photo Contest
การถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ช้า (Slow shutter photography) เริ่มเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งความโดดเด่นของการถ่ายภาพประเภทนี้คือ ช่างภาพสามารถสร้างสรรค์อารมณ์ ความรู้สึก และใส่รสนิยมของตนลงไปในภาพถ่ายเพื่อเพิ่มความมีชีวิตชีวาบางอย่างซึ่งไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
และอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการถ่ายภาพประเภทนี้ก็คือ ฟิลเตอร์ ND (Neutral Density)
ซึ่งหากเข้าใจหลักการการและการใช้งานฟิลเตอร์ ND เป็นอย่างดี ช่างภาพจะประยุกต์ใช้และสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายประเภทนี้ได้อย่างไม่สิ้นสุด
Title: "Undine" | Photographer: 村岡宏樹 | ND filter
ฟิลเตอร์ ND คืออะไร?
ฟิลเตอร์ ND คือฟิลเตอร์ที่มีกระจกสีเทาซึ่งมีความสามารถในการลดปริมาณแสงที่เข้าสู่เลนส์ได้ หากให้เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายหลักการทำงานก็คล้ายกับแว่นกันแดดนั่นเอง
ND ย่อมาจาก "Neutral Density" มาจากความสามารถของฟิลเตอร์ที่ลดปริมาณแสงที่เข้าสู่เลนส์ได้โดยไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อคุณภาพและสีสันของภาพถ่าย
ฟิลเตอร์ ND มักจะมาพร้อมกับค่าตัวเลขต่างๆ ต่อท้าย เช่น ND4, ND8 เป็นต้น ซึ่งยิ่งมีตัวเลขต่อท้ายเพิ่มมากขึ้น ความสามารถในการลดความเร็วชัตเตอร์ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
นอกจากนั้นค่าตัวเลขเหล่านี้ยังสามารถบอกปริมาณแสงที่ลดลงได้อีกด้วย เช่น ND4 = แสงสามารถผ่านได้เพียง 1/4 ของปริมารแสงทั้งหมด, ND8 = แสงสามารถผ่านได้เพียง 1/8 ของปริมาณแสงทั้งหมด เป้นต้น บางครั้งอาจจะพบกับว่า "3 stops light loss" คำนี้จะบอกค่าแสงที่เสียไปเป็นสต็อป (stop) ยกตัวอย่างเช่น "1 stop light loss" คือเสียแสงไป 1 สต็อป หมายถึงแสงผ่านได้ 50%, "2 stops light loss" คือเสียแสงไป 2 สต็อป หมายถึงแสงผ่านได้ 25% และ "3 stops light loss" คือเสียแสงไป 3 สต็อป หมายถึงแสงผ่านได้ 12.5% เป็นต้น
Filter | ND2 | ND4 | ND8 | ND16 |
Light reduction | 1/2 | 1/4 | 1/8 | 1/16 |
Exposure factor (approx.) | 2 | 4 | 8 | 16 |
Light loss | 1 stop | 2 stops | 3 stops | 4 stops |
Transmittance (approx.) | 50% | 25% | 12.5% | 6.25% |
Title: Future express | Photographer: 松尾和敏 | ND filter, f/9, 60 sec, ISO400
รูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์
สำหรับการถ่ายภาพบางประเภทจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์เป็นหลัก ด้วยการควบคุมแสงที่ค่อนข้างจำกัดนี้ทำให้ฟิลเตอร์ ND จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับช่วยในการควบคุมปริมาณแสงให้ได้ตามที่ช่างภาพต้องการ
สิ่งที่ควรต้องรู้อันดับแรกนั่นก็คือ "exposure" ซึ่งจะถูกกำหนดโดยปัจจัยหลักดังต่อไปนี้ คือ รูรับแสง (Aperture), ความเร็วชัตเตอร์ (Speed Shutter) และความไวแสง (ISO)
รูรับแสง
รูรับแสง (Aperture) ทำหน้าที่ควบคุมและกำหนดปริมาณแสงที่เข้าสู่เลนส์ โดยจะถูกแสดงในรูปแบบของค่า f-number เช่น f/1.4, f/2, และ f/2.8 เป็นต้น
ยิ่งตัวเลข f-number มากขึ้นปริมาณแสงที่เข้าสู่เลนส์จะยิ่งน้อยลง ในทางกลับกันตัวเลข f-number ยิ่งน้อยแสงยิ่งเข้าสู่เลนส์ได้มากขึ้น เช่น เมื่อเปลี่ยนค่ารูรับแสงจาก f/1.4 เป็น f/2 ปริมาณที่เข้าสู่เลนส์จะน้อยลงครึ่งหนึ่ง
นอกจากนั้นรูรับแสงยังส่งผลต่อ "ระยะชัดลึก" (Depth of field) อีกด้วย เช่น ค่า f-number น้อยจะทำให้ภาพมีฉากหลังที่เบลอมากขึ้น (หรือที่เรียกกันว่า หลังละลาย)
ความเร็วชัตเตอร์
ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter Speed) คือระยะเวลาที่ม่านชัตเตอร์เปิดให้แสงตกกระทบเซ็นเซอร์ของกล้อง ภาพจะถูกบันทึกในขณะที่ชัตเตอร์กำลังเปิดอยู่นี้เอง ยิ่งความเร็วชัตเตอร์ช้ายิ่งทำให้แสงตกกระทบเซ็นเซอร์ได้นานยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น เมื่อเปลี่ยนการตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์จาก 1/60 วินาทีเป็น 1/30 วินาที ปริมาณแสงที่เข้าสู่เซ็นเซอร์จะเพิ่มเป็นสองเท่า ซึ่งการใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้าจะสามารถจับภาพ Movement ของวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ได้
เมื่อไหร่ที่จำเป็นต้องใช้ฟิลเตอร์ ND
เมื่อต้องการลดความเร็วชัตเตอร์ลง
เราสามารถสร้าง movement ให้กับภาพถ่ายวัตถุใดๆ ได้ด้วยการลดความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าลง เช่น เมื่อถ่ายภาพน้ำตกด้วยความเร็วชัตเตอร์ช้ามากพอน้ำตกจะดูมี movement และนุ่มนวลยิ่งขึ้น ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง
เมื่อต้องการเปิดรูรับแสงกว้างเพื่อให้ฉากหลังละลาย
ภาพที่ฉากหลังละลายเกิดจากการเปิดรูรับแสงให้กว้างมากพอ แต่ในสภาพแสงที่มีแดดจ้าหากเปิดรูรับแสงกว้างนั้นจะทำให้ภาพโอเวอร์ (over-exposure) ได้ การใช้ฟิลเตอร์ ND จะช่วยให้ควบคุมปริมาณแสงได้อย่างเหมาะสม
ในเมื่อกล้องก็สามารถปรับค่าแสงได้ แล้วฟิลเตอร์ ND ยังจำเป็นอยู่หรือไม่?
หากต้องการความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลง
ในเชิงเทคนิคเราสามารถลดความเร็วชัตเตอร์ได้ด้วยการหรี่รูรับแสงลง (ใช้ค่า f-number สูงขึ้น) แต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่างอาจจะทำให้ภาพที่ได้ยังโอเวอร์อยู่ ยิ่งไปกว่าการถ่ายภาพด้วยค่า f-number สูงเกินไป (หรือแคบสุด) คุณภาพภาพจะถูกลดทอนลงไปด้วย (อ่านเพิ่มเติมที่หัวข้อ "Diffraction phenomeno")
เมื่อต้องการเปิดรูรับแสงกว้างเพื่อให้ฉากหลังละลาย
ในวันที่มีแสงแดดจ้า การเปิดรูรับแสงกว้าง (f/1.4 หรือ f/1.8) ในขณะที่ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงสุดของกล้องแล้ว (Shutter Speed limit 1/4000s หรือ 1/8000s ขึ้นอยู่กับรุ่นของกล้อง) แต่ปรากฏว่าภาพที่ได้ยังคงสว่างมากเกินไป ในสภาพแสงเช่นนี้จึงจำเป้นต้องใช้ฟิลเตอร์ ND เพื่อลดแสงส่วนเกิน
Diffraction Phenomenon คืออะไร?
ในการถ่ายภาพ diffraction เกิดจากการเลี้ยวเบนหลบสิ่งกีดขวางของคลื่นแสง
เมื่อแสงเดินทางผ่านรูรับแสงที่ถูกบีบให้แคบจนเกินไป จะเกิดการเลี้ยวเบนและฟุ้งกระจายจนเหลื่อมล้ำไปยัง Pixel อื่นๆ เกิดเป็น diffraction ขึ้นมา ทำให้คุณภาพของภาพน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ภาพตัวอย่างด้านล่างแสดงความแตกต่างระหว่างภาพที่เปิด f/8 และ f/22 ตามลำดับ
การใช้ฟิลเตอร์ ND สร้างความแตกต่างให้ภาพถ่ายได้ขนาดไหน?
ด้านล่างคือภาพตัวอย่างที่เผยให้เห็นถึงความแตกต่างและความน่าประทับใจของการใช้ฟิลเตอร์ ND
การใช้ฟิลเตอร์ ND กับการถ่ายภาพน้ำตกสามารถสร้างความโดดเด่นได้อย่างง่ายดายด้วยการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้ากว่าปกติ ช่วยให้ลดความเร็วชัตเตอร์จาก 1/30 วินาทีให้เลือเพียง 1/4 วินาที ด้วยฟิลเตอร์ ND8 ซึ่งทำให้ภาพน้ำตกไหลอย่างนุ่มนวลเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ดังที่แสดงในภาพตัวอย่างด้านล่าง ภาพที่ถ่ายด้วยฟิลเตอร์ ND16 และ ND32 แม้ความเร็วชัตเตอร์จะต่างกันเพียง 1 สต็อปเท่านั้น แต่ฟิลเตอร์ ND ที่เข้มกว่าก็จะให้ภาพน้ำตกที่ดูนุ่มนวลกว่าอย่างเห็นได้ชัด
Title: Magic hour | Photographer: 田辺和貴 | ND400 filter
วิธีเลือกใช้ฟิลเตอร์ ND
ควรเลือกใช้ฟิลเตอร์แบบไหน? การเลือกฟิลเตอร์ ND ที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น วัตถุที่ต้องการถ่าย สภาพแสงและสถานการณ์ สิ่งที่ต้องการเน้น หรือแม้กระทั่งรสนิยม ตัวตนที่ต้องการใส่ลงไปในภาพถ่าย หรืออาจมีปัจจัยยิบย่อยอื่นๆ อีกมาก
ในการเลือกฟิลเตอร์ ND ให้เหมาะสม สามารถพิจารณาตามหลักทั่วไปดังตารางด้านล่างนี้
ตารางที่ 1 : ตรวจสอบค่า EV ที่เหมาะสมตามเงื่อนไขการถ่ายภาพ
ตารางที่ 2 : ตรวจสอบและจับคู่ความสัมพันธ์ระหว่างค่ารูรับแสงกับความเร็วชัตเตอร์โดยอ้างอิงตามค่า EV
ตารางที่ 3 : ตรวจสอบประมาณค่าความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการโดยอ้างอิงจากฟิลเตอร์ที่จะนำไปใช้
ต่อไปลองข้อมูลและค่าต่างๆ จากในตารางไปใช้ในสถานการณ์ดังต่อไปนี้
ตัวอย่างที่ 1 : ถ่ายภาพ Snap ให้โดดเด่นด้วยวัตถุกำลังเคลื่อนไหว
Title: みんなの踏切 | Photographer: 高橋邦夫 | ND filter, f/8, 1/20 sec, ISO100
สมมติว่า ต้องการถ่ายภาพให้เห็น movement ของวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ ในสภาพแสงแดดจ้าด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/30 วินาที
ตารางที่ 1 : สภาพแสงแดดจ้า "Sunny Day" สอดคล้องกับค่า "EV 14"
ตารางที่ 2 : หากต้องการเปิดรูรับแสงที่ f/8 ด้วยค่า EV 14 จะได้ค่าความเร็วชัตเตอร์เป้น 1/250 วินาที
ตารางที่ 3 : เมื่อใช้ฟิลเตอร์ ND8 จะสามารถลดความเร็วชัตเตอร์ให้เหลือ 1/30 วินาทีได้
Tip : หากรู้สึกว่ายังต้องการลดความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าลงอีก สามารถปรับเพิ่ม f ขึ้นได้เช่นกัน
ตัวอย่างที่ 2 : ถ่ายภาพคลื่นทะเลให้ดูฟุ้ง นุ่มนวลในสภาพแสงแดดจ้า
Title: Advancing waves | Photographer: Hyun-jin, Bae | ND400 filter, f/9, 2 sec, ISO100
ตารางที่ 1 : วันที่เมฆน้อย/สถานการริมทะเล สอดคล้องกับค่า EV16
ตารางที่ 2 : หากต้องการเปิดรูรับแสงที่ f/8 ด้วยค่า EV 16 จะได้ค่าความเร็วชัตเตอร์เป็น 1/1000 วินาที
ตารางที่ 3 : เมื่อใช้ฟิลเตอร์ ND1000 จะสามารถลดความเร็วชัตเตอร์ลงเหลือ 1 วินาที
Tip : หากต้องการถ่ายภาพ Long exposer ที่เปิดรับแสงนานกว่า 10 วินาที ในสภาพแสงดังกล่าว (เมฆน้อย/ริมทะเล) ฟิลเตอร์ ND1000 อาจไม่พอ แต่ถ้าใช้ฟิลเตอร์ ND1000 ร่วมกับฟิลเตอร์ ND16 ก็จะช่วยลดความเร็วชัตเตอร์ลงเหลือ 15 วินาทีได้ (ลดแสง 14 สต็อป)
การซ้อนฟิลเตอร์ ND จะให้ค่า ND factor เท่าไหร่? ลดแสงได้กี่สต็อป?
กรณีที่ต้องการซ้อนฟิลเตอร์ ND เพื่อผลลัพธ์ที่มากกว่า จะสามารถคำนวณค่า ND factor ได้ง่ายๆ ด้วยการคูณค่า ND factor เหล่านั้นเข้าด้วยกัน
Tip : อย่าลืมพกฟิลเตอร์ ND ติดกระเป๋ามากกว่า 2 ชิ้น เพื่อสถานการณ์ที่หลากหลาย
วิธีควบคุมความเร็วชัตเตอร์ที่ดีที่สุดสำหรับทุกสถานการณ์คือพกฟิลเตอร์ ND ติดกระเป๋ามากกว่า 1 ชิ้น เช่น ND8, ND64, ND1000 ชุดนี้เรียกได้ว่าครอบคลุมทุกสถานการณ์แล้ว และวิธีนี้ทำให้เราสามารถซ้อนฟิลเตอร์เพื่อใช้งานในสถานการณ์ที่ฟิลเตอร์ชิ้นเดียวนั้นไม่เพียงพอ
ด้วยการซ้อนฟิลเตอร์แบบนี้ เราสามารถคำนวณค่าแสงที่เสียไปได้
Tip : ฟิลเตอร์ Variable ND (หรือเรียกกันอีกชื่อว่า Fader ND) ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน
ฟิลเตอร์ Variable ND เป็นฟิลเตอร์ที่สามารถหมุนเพื่อเพิ่มหรือลดความเข้มในการกรองแสงได้ในฟิลเตอร์ชิ้นเดียว จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการถ่าย Video ด้วยกล้อง DSLR
การเลือกใช้ฟิลเตอร์ ND ให้เหมาะกับสถานการณ์ที่สุด
การถ่ายภาพน้ำตก แม่น้ำ : ND8/ND16/ND32/ND64
การใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้าในการถ่ายภาพน้ำตกหรือแม่น้ำจะช่วยให้สายน้ำนุ่มนวล ดูมี movement ความเร็วชัตเตอร์ 1/4 วินาที - 1 วินาทีมักจะให้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมในสถานการณ์เหล่านี้ สำหรับคนที่ยังไม่เคยมีและกำลังมองหาฟิลเตอร์ ND ไว้ใช้งานเป็นชิ้นแรก แนะนำให้ใช้ ND16 เนื่องจากใช้งานง่าย และความสามารถในการลดทอนแสงที่ค่อนข้างเพียงพอสำหรับเทคนิคการถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ช้า
Title: 眩惑-鍋ヶ滝 | Photographer: 江藤博文 | ND+PL filter
การถ่ายภาพผู้คนสัญจรคับคั่งในตัวเมือง : ND1000/ND500
การถ่ายภาพเมืองด้วยความเร็วชัตเตอร์ช้าจะสามารถเก็บภาพผู้คนที่กำลังสัญจรไปมาเกิดเป็นโมชั่นเบลอไปตามท้องถนน บรรยากาศการใช้ชีวิตและความวุ่นวายของเมืองช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับภาพถ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความเร็วชัตเตอร์ 30 วินาทีหรือนานกว่านี้จะทำให้ภาพเงาของผู้คนที่เดินผ่านไปมาจางหายไปได้เกือบจะทั้งหมด ในขณะที่ผู้คนที่ยืนนิ่งจะยังดูคมชัดสร้างคอนทราสท์ให้กับภาพถ่าย
ฟิลเตอร์ ND8 หรือ ND16 กับความเร็วชัตเตอร์ราวๆ 1/30 ~ 1/10 วินาทีก็อาจเพิ่มความน่าสนใจให้กับภาพผู้คนด้วยโมชั่นเบลอเพียงเล็กน้อย
Title: 老街大喜时 | Photographer: 顾益民様 | ND filter
การถ่ายภาพทะเลและทะเลสาบ : ND1000/ND500
การถ่ายภาพทะเลหรือทะเลสาบด้วยความเร็วชัตเตอร์ช้าจะสามารถถ่ายทอดความราบเรียบของผิวน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บริเวณผิวน้ำในวันที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง มีแสงแดดจ้า และสว่างเกินไป แม้กระทั่งบางครั้งฟิลเตอร์ ND1000 ที่ลดความเร็วชัตเตอร์ลงเหลือเพียง 1 วินาทีนั้นอาจจะยังไม่เพียงพอ หากต้องการถ่ายภาพ Long Exposure ด้วยความเร็วชัตเตอร์ยาวนาน 60 วินาทีเพื่อเกลี่ยคลื่นที่ผิวน้ำให้เหลือน้อยที่สุด อาจจำเป็นต้องใช้ฟิลเตอร์ ND1000 ร่วมกับ ND16
ในขณะที่ช่วงพระอาทิตย์ใกล้จะตกดิน ค่าแสงอาจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยากต่อการคาดเดาค่าแสงที่ถูกต้องได้
กรณีแบบนี้ ควรมีฟิลเตอร์ ND ติดกระเป๋ามากกว่า 1 ชิ้นด้วย เช่น ND64 ND8 หรือ Variable ND ก็ได้เช่นกัน
Title: 水浸白千層 | Photographer: Chung Kwong Leung | ND filter, f/18, 20 sec, ISO100
การถ่ายภาพเมฆ : ND1000/ND500
การถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ที่ช้ากว่าปกตินั้นจะช่วยสร้าง movement ให้กับก้อนเมฆที่กำลังเคลื่อนตัวไปตามทิศทางลม
Title: 神の通る道 | Photographer: 佐々木 和一朗 | ND filter
การตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ไว้ที่ 60 วินาทีจะสามารถเก็บภาพการไหลของเมฆที่เปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นได้อย่างสวยงาม บางครั้งใช้เพียง ND8 ร่วมกับ ND16 ก็เพียงพอแล้ว
การถ่ายภาพเส้นแสง Cityscape : ND4/ND8
ช่วงเวลากลางคืนแสงไฟจากรถยนต์ เรือ เครื่องบิน หรืออื่นๆ สามารถถูกบันทึกให้อยู่ในรูปแบบของเส้นแสงด้วยการถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ช้า การใช้ฟิลเตอร์ ND ที่มีความเข้มกำลังดีเข้ามาเป็นตัวช่วยจะทำให้สามารถลากเส้นแสงให้ยาวขึ้นได้ จากมุมหนึ่งไปสู่อีกมุมหนึ่งโดยไม่ขาดช่วง เนื่องจากสถานการณ์แบบนี้ความเร็วชัตเตอร์ที่ได้จะค่อนข้างช้าอยู่แล้ว ฟิลเตอร์ ND ที่เหมาะสมนั่นก็คือ ND4 และ ND8
Title: The city | Photographer: Derek John Draper | ND filter, f/6.3, 108 sec, ISO100
พลุและดอกไม้ไฟเป็น subject ที่สว่างมาก บางครั้งแม้จะใช้ ISO ต่ำก็ยังให้ภาพที่ยังโอเวอร์อยู่ กรณีที่ไม่ใช้ฟิลเตอร์ ND จึงจำเป็นต้องบีบรูรับแสงให้แคบมากๆ ผลที่ได้คือภาพผลลัพธ์ที่คุณภาพค่อนข้างต่ำเนื่องจากเกิด diffraction ดังนั้นการใช้ฟิลเตอร์ ND จะช่วยให้สามารถถ่ายภาพพลุหรือดอกไม้ไฟด้วยค่าแสงที่ถูกต้องในขณะที่ใช้ค่า f-number ที่เหมาะสมได้อีกด้วย
ที่ ISO มาตรฐานของกล้องทั่วไป ISO100 หรือ ISO200 แนะนำให้ใช้ ND4 หรือ ND8 ก็เพียงพอแล้ว
Title: 佐世保の夜 | Photographer: 藤正司 | ND8 filter, f/14, 13 sec, ISO100
การถ่ายภาพด้วยเทคนิคการแพนกล้อง : ND4/ND8/ND16
เทคนิคการแพนกล้องเพื่อถ่ายภาพวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหว ด้วยการแพนหน้ากล้องให้อยู่ในระนาบและทิศทางเดียวกับวัตถุจะช่วยสร้างภาพถ่ายที่มีฉากหลังเบลออย่างโดดเด่น เป็นเทคนิคที่ดีมากในการถ่ายภาพให้ดูเหมือนมีความเร็วสูง ใช้ฟิลเตอร์ ND หากต้องการลดความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าเพื่อผลลัพธ์สูงสุด
Title: 森林の風 | Photographer: Tarumi Kazuo | ND filter, f/10, 1/6 sec, ISO50
ค่าความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุที่ถ่าย แต่โดยทั่วไปแล้วจะใช้ความเร็วประมาณ 1/30 วินาที ซึ่งเป็นค่าอ้างอิงที่ดีทีเดียว
การถ่ายภาพแพดอกไม้ : ND1000/ND500
ฟิลเตอร์ ND ที่มีความเข้มสูง เช่น ND1000 เหมาะสำหรับการถ่ายภาพเส้นสายกลีบดอกไม้ หรือใบไม้ที่ไหลเป็นแพช้าๆ ไปตามผิวน้ำเป็นอย่างยิ่ง ในกรณีที่มีร่มเงาค่อนข้างมาก ND64 ก็เป็นอีกหนึ่งฟิลเตอร์ที่ค่อนข้างเพียงพอสำหรับเทคนิคนี้ เราสามารถถ่ายเทสต์ช็อตเพื่อเช็คระยะทางในการไหล และใช้เวลากี่วินาที จากนั้นจึงตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ให้นานขึ้นด้วยการใช้ฟิลเตอร์ ND นอกจากนั้นยังสามารถจับภาพ movement ของใบไม้และกิ่งไม้ที่ไหวไปตามแรงลมได้อีกด้วย
Title: 桜覚醒 | Photographer: 松田慎司 | ND1000+PL filter, f/8, 95.8 sec, ISO100
ฟิลเตอร์ ND : การถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ช้า
ภาพส่วนหนึ่งของวิธีใช้ฟิลเตอร์ ND ในการถ่ายภาพ
ติดตั้งกล้องและยึดเข้ากับขาตั้งกล้อง
ติดตั้งกล้องและยึดเข้ากับขาตั้งกล้องที่สามารถรับน้ำหนักของกล้องและเลนส์ได้อย่างมั่นคง เพื่อป้องกันการสั่นไหวของภาพที่จะเกิดจากการสัมผัสกล้องด้วยมือ
การตั้งค่ากล้อง
โหมดถ่ายภาพ : ตั้งค่ากล้องไปที่โหมด "aperture priority (A/AV)" หรือโหมด "Manual Exposure (M)" ทั้งสองโหมดนี้จะสามารถล็อคค่าความเร็วชัตเตอร์ให้คงที่ได้ ต่างจากโหมด "Program Auto (P)" ที่ความเร็วชัตเตอร์จะเปลี่ยนไปตามค่าแสงโดยอัตโนมัติ
องค์ประกอบและการโฟกัส
การถ่ายภาพด้วยฟิลเตอร์ ND ที่มีความเข้มสูงในขณะที่สภาพแสงน้อยจะทำให้การโฟกัสเป็นไปได้ยาก ในกรณีนี้จำเป็นต้องตัดสินใจจัดองค์ของภาพและปรับโฟกัสให้เรียบร้อยก่อนสวมฟิลเตอร์เข้าไปที่หน้าเลนส์
วิธีการง่ายๆ ก็คือ เปิดโหมดโฟกัสไปที่อัตโนมัติ จากนั้นทำการโฟกัสไปที่ตัวแบบที่ต้องการ จากนั้นเปลี่ยนโหมดโฟกัสไปที่ MF เพื่อล็อคตำแหน่งโฟกัสนั้นค้างไว้
อีกหนึ่งเคล็ดลับคือ เปิดโหมด live viw ในขณะที่โฟกัส วิธีนี้จะช่วยให้สามารถขยายหน้าจอเพื่อการโฟกัสที่แม่นยำยิ่งขึ้น
*ในทางกลับกันหากสภาพแสงสว่างเพียงพอในขณะที่ใช้ฟิลเตอร์ ND (หรือฟิลเตอร์ ND ที่ใช้มีความเข้มน้อย) จะไม่เกิดปัญหาดังกล่าว
การติดตั้งฟิลเตอร์ ND และการถ่าย
หลังจากโฟกัสเรียบร้อยแล้ว สวมฟิลเตอร์ ND เข้าไปที่หน้าเลนส์จากนั้นจึงลั่นชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพ
แนะนำให้ใช้สายลั่นเตอร์หรือตั้งเวลาถ่ายภาพ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในการลดการสั่นไหวขณะลั่นชัตเตอร์
การปรับค่า Exposure
หลังจากการถ่ายภาพเทสต์ช็อตเรียบร้อยแล้ว ให้ลองปรับค่ารูรับแสง ISO หรือความเร็วชัตเตอร์ให้สอดคล้องกับภาพที่จินตนาการไว้ ปรับชดเชยแสง (+/-) เพื่อให้ได้ภาพที่มีความสว่างหรือมืดตามที่ต้องการ
เคล็ดลับ : หากต้องการให้ความเร็วชัตเตอร์ช้าลงอีก เพียงแค่เพิ่มค่า f-number ให้สูงขึ้น หรือหากต้องการเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ให้เร็วขึ้นก็สามารถทำได้ด้วยการเพิ่ม ISO ให้สูงขึ้น
ควรระวังแสงหลังกรณีที่ใช้กล้อง DSLR
เมื่อถ่ายภาพด้วยกล้อง DSLR อาจเกิดแสงลอดผ่านเข้ามาทางช่องมองภาพ ทำให้ปรากฏแสงที่ไม่พึงประสงค์บนภาพถ่าย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวแนะนำให้ใช้ฝาปิดช่องมองภาพ หรือ eyepiece shutter หรือถ้าไม่มีก็ใช้วัถุง่ายๆ ใกล้ตัวเช่น ผ้าเช็ดเลนส์ เพื่อปิดกั้นแสงด้านหลังกล้องก็ได้เช่นกัน