5 เหตุผล ทำไมต้องใช้ฟิลเตอร์ UV/Protector

4589 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จุดประสงค์หลักของการใช้ฟิลเตอร์ UV หรือ Protector นั้นคือการใส่เพื่อปกป้องหน้าเลนส์จากฝุ่นละออง คราบสกปรก และรอยขีดข่วน ซึ่งฟิลเตอร์ UV ยังช่วยเพิ่มคอนทราสต์และรายละเอียดให้ภาพถ่ายในกรณีที่ถูกลดทอนลงโดย UV Haze เมื่อถ่ายภาพบนพื้นที่สูง

บทความนี้จะช่วยให้เข้าใจการทำงานของฟิลเตอร์และเรียนรู้เกี่ยวกับคุณลักษณะพิเศษซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกฟิลเตอร์คุณภาพดี

5 เหตุผล ทำไมต้องใช้ฟิลเตอร์ UV/Protector

  1. ปกป้องหน้าเลนส์จากฝุ่นละอองและสิ่งสกปรก
  2. ปกป้องหน้าเลนส์จากน้ำและรอยขีดข่วน
  3. ปกป้องหน้าเลนส์จากคราบน้ำมันและรอยเปื้อน
  4. บล็อก haze ที่จะลดทอนคอนทราสต์ของภาพเมื่ออยู่บนพื้นที่สูง กรณีใช้กับกล้องดิจิทัล
  5. บล็อก haze ที่จะลดทอนคอนทราสต์ของภาพสำหรับพื้นที่ทุกระดับ กรณีใช้กับกล้องฟิล์ม
HOYA UV Filter Sample

Photo by : Hoya  Filter USA

คุณสมบัติหลักที่ฟิลเตอร์ UV/Protector ควรต้องมี

กระจก :

กระจกมีหลายเกรดหลายคุณภาพเพื่อการใช้งานและผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งความคมชัด คอนทราสต์ และสีสัน ในฟิลเตอร์ราคาถูกมักจะใช้กระจกธรรมดาขัดมันนิดหน่อยแล้วจับใส่เฟรม ในขณะที่ฟิลเตอร์ระดับพรีเมี่ยมหรือเกรดสูงๆ มักจะใช้กระจก Optical grade เกรดเดียวกับที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นเลนส์เพื่อการถ่ายภาพซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จึงยอดเยี่ยมราวกับถ่ายภาพโดยไม่ใส่ฟิลเตอร์แต่ก็แลกมาด้วยราคาที่สูงตามไปด้วย

  • Optical Glass เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดแต่ราคาอาจจะสูงกว่าเล็กน้อย
  • Schott B270 เป็นอีกหนึ่งกระจกที่ได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับการผลิตฟิลเตอร์
  • หลีกเลี่ยงฟิลเตอร์ที่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นกระจกประเภทใด ซึ่งอาจจะเป็นกระจกธรรมดาที่ในเนื้อกระจกมีสิ่งสกปรกจำนวนมากที่อาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าแต่ลดทอนคุณภาพที่ควรได้อย่างแน่นอน
  • Black Rimmed การทาขอบกระจกด้วยสีดำบ่งบอกถึงความใส่ใจของผู้ผลิตที่มีต่อผลลัพธ์เป็นพิเศษ ซึ่งการทาขอบสีดำนี้เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดการสะท้อนแสงที่ไม่อาจคาดเดาได้ตามบริเวณขอบของกระจก
Tips! ฟิลเตอร์ Hoya เพิ่มความสามารถไปอีกขั้นด้วยการใช้กระจก Optical glass มาผ่านกระบวนการทางเคมีให้แข็งกว่ากระจก optical อื่นมากถึง 400%
Multi-coating comparison

Photo by : Hoya  Filter USA

เคลือบผิว Multi-Coating :

การเคลือบผิว Multi-Coating ที่คุณภาพดีนั้นจะเพิ่มความสามารถในการส่งผ่านแสง (Light transmission) ของฟิลเตอร์สูงขึ้นแสงผ่านได้มากขึ้น ช่วยลดการสะท้อนแสงที่ด้านหน้าและด้านหลังของฟิลเตอร์ จำนวนชั้นที่เพิ่มขึ้นมักจะหมายถึงการส่งผ่านแสงที่ดียิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

  • ฟิลเตอร์ UV/Protector คุณภาพสูงจะมีการเคลือบผิว Multi-Coating ทั้งสองด้านของกระจก อย่าลืมตรวจสอบรายละเอียดบนสเป็กชีทให้แน่ใจมีคุณสมบัตินี้หรือไม่
  • จำนวน Layer ที่มากกว่าหมายถึงการส่งผ่านแสงที่ดีขึ้น แต่ก็หมายถึงราคาที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
  • ค่าการส่งผ่านแสง (Light transmission) 98% ขึ้นไปถือว่าแสงผ่านได้ดีมากและเพียงพอต่อความต้องการของช่างภาพส่วนใหญ่
  • การเคลือบผิว Multi-Coating ช่วยป้องกันการเกิดภาพสะท้อนหรือโกสต์ ป้องกันการเกิดแฟลร์ ป้องกันการลดทอนคอนทราสต์ และสามารถถ่ายทอดสีสันได้อย่างแม่นยำ สีไม่เพี้ยนอีกด้วย
  • หลีกเลี่ยงฟิลเตอร์ UV/Protector ที่ไม่มีการเคลือบผิว หรือเคลือบผิวแค่ชั้นเดียว เชื่อเถอะว่าผลลัพธ์ที่ได้ไม่คุ้ม และไม่น่าแฮปปี้นักหรอกครับ
Antistatic sample

การเคลือบแบบพิเศษ

สำหรับฟิลเตอร์ที่มีการเคลือบแบบ Multi-Coating ผู้ผลิตมักจะเพิ่มการเคลือบแบบพิเศษเข้าไปเพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นบางอย่างและเสริมความทนทานให้กับฟิลเตอร์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีเยี่ยมที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษเช่นกัน ตัวอย่างของฟังก์ชั่นที่เพิ่มเข้ามากับการเคลือบ ได้แก่

  • Waterproof ความสามารถในการป้องกันละอองน้ำ ที่จะทำให้หยดน้ำเกาะกลุ่มกันอยู่บนผิวกระจกคล้ายหยดน้ำบนใบบัว ซึ่งสามารถสลัดออกหรือเช็ดทำความสะอาดได้อย่างง่ายดาย
  • Oil and Smudge resistance ช่วยป้องกันคราบน้ำมันรอยเปื้อน รอยนิ้วมือ ช่วยให้เช็ดทำความสะอาดง่ายยิ่งขึ้น
  • Anti-static คุณสมบัตินี้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดไฟฟ้าสถิตบนกระจกเมื่อเช็ดถูทำความสะอาด ช่วยป้องกันไม่ให้ฝุ่นเกาะติดกับผิวกระจก ฟังก์ชั่นนี้ช่วยให้การทำความสะอาดง่ายยิ่งขึ้น

ขอบฟิลเตอร์ :

ขอบฟิลเตอร์ทำหน้าที่เป็นตัวจับกระจกฟิลเตอร์ให้แน่นหนามั่นคงและยึดเข้ากับหน้าเลนส์ผ่านสกรู มักจะผลิตจากทองเหลืองหรืออลูมิเนียม โดยปกติแล้วทั้งทองเหลืองและอลูมิเนียมเป็นวัสดุที่เหมาะแก่การนำมาทำเป็นขอบฟิลเตอร์ด้วยกันทั้งคู่แต่ก็จะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป ขอบฟิลเตอร์ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยชิ้นส่วน 2 ชิ้น ชิ้นแรกทำหน้าที่เป็นตัวฐานรับชิ้นกระจกจากนั้นใส่แหวนยึดเข้ากันด้วยที่ยึดหรือขันสกรู ซึ่งวิธีประกอบแบบนี้อาจไม่ได้เป็นปัญหาเท่าไรนัก เว้นแต่แหวนยึดจะคลายออก ด้วยเหตุนี้ Hoya จึงใช้กระบวนการประกอบอีกแบบที่เรียกว่า Press Fit แทน

Press Fit

การประกอบแบบ Press Fit ใช้อลูมิเนียมชิ้นเดียวขยายออกด้วยการกดแบบพิเศษให้พอดีสำหรับวางกระจกฟิลเตอร์ลงไป จากนั้นจึงปล่อยจะได้ขอบฟิลเตอร์ที่เชื่อมต่อแน่นหนาและแข็งแรง และที่สำคัญฟิลเตอร์จะวางตัวขนานกับหน้าเลนส์และระนาบของเซ็นเซอร์ของกล้องโดยสมบูรณ์เมื่อติดตั้งเข้ากับเลนส์อย่างถูกต้อง (ทองเหลืองแข็งกว่าจึงยากจะใช้วิธีนี้ได้)

ความหนาของขอบฟิลเตอร์

ความหนาของขอบฟิลเตอร์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการพิจารณาฟิลเตอร์เมื่อต้องใช้กับเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสกว้างกว่า 20 มม. บนกล้องฟูลเฟรม เวลาเลือกซื้ออย่าลืมมองหาคำว่า Thin Frame, Slim frame หรือ low-profile เพื่อจะได้ฟิลเตอร์ที่ขอบบางเพียงพอสำหรับช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดขอบมืด (Vignette) ได้


เรียนรู้เกี่ยวกับฟิลเตอร์อื่นๆ เพิ่มเติม : การใช้งานฟิลเตอร์เพื่อการถ่ายภาพ

เรียนรู้เกี่ยวกับฟิลเตอร์ Hoya : คลิ๊ก!

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้